เตือนให้คิด ก่อนตัดสินใจสร้างแบรนด์


วันนี้ผมเจอโฆษณาธุรกิจนี้หลายเพจจังแฮะ พวกโรงงานรับผลิตครีมในต้นทุนต่ำอ่ะ ประกาศโครมๆ ว่าแค่ 3,000 บาทก็มีแบรนด์ของตัวเองแล้ว...

ผมตัดสินใจจะแสดงความเห็นเรื่องนี้เพื่อเตือน แมลงเม่าระดับ Newbie อีกครั้งว่า

การมีแบรนด์เป็นของตนเองไม่ได้หมายถึง การผลิตสินค้าภายใต้ชื่อและลิขสิทธิ์ของคุณเท่านั้น แต่มันต้องเป็นที่รับรู้ในกลุ่มลูกค้าด้วย 

แล้วไอ้กระบวนการสร้างการรับรู้นี่แหละ งานหินโคตรๆ ยากกว่าการผลิตสินค้าซะอีก ดีไม่ดีนะ ต้องใช้งบประมาณมากกว่าด้วย 

ดังนั้นใครที่ฝันจะมีแบรนด์เป็นของตนเอง ต้องคิดให้จบ อย่าคิดฉาบฉวยแค่ว่าเอาเงินจ้างผลิตแล้วก็แล้ว...

ผมไม่เคยเห็นมันจะแล้วจริงสักราย สุดท้าย งบบานปลาย สายป่านขาด สินค้าค้างสต๊อก เวลาใครถามก็ยิ้มตอบแบบเก้อๆ ว่า "ซื้อประสบการณ์"

ถ้ามีใครบอกว่า ผลิตสินค้าสิ แล้วเอามาประกาศขายในเฟสบุค อินสตาแกรมก็ขายได้แล้ว แสดงว่าเขาไม่ได้ใส่ใจคุณจริงจัง ถ้าทำง่าย ทำได้เหมือนกันหมด ป่านนี้คงรวยกันทุกคนแล้ว

แบรนด์ที่ Achieve จนกูรูสายการตลาดเอาไปเป็น Case study สังเกตสิ มันมีแค่ไม่กี่แบรนด์หรอก ในสัมมนา 10 ที่ มันต้องมี Case study ที่ซ้ำกันแน่ๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ที่ ผมกล้าพูดเลย

ถามว่าทำไมผมมั่นใจ ก็ลองย้อนไปดูหนังสือธุรกิจในร้าน SE-ED สิ ถ้ามีการพูดถึง Case study ของธุรกิจกาแฟเมื่อไร คุณต้องเห็นแน่ๆ ล่ะ Starbucks​ ซึ่งผมก็สงสัยมาตลอด ทั้งโลกมัน Achieve แค่นี้เองเหรอวะ?

(เออ พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็น่าตำหนิพวกกูรูนะ ขอบเขตการเรียนรู้อยู่ในหนังยางวงเดียวกันหรือยังไง?)

สรุปคือ 100 แบรนด์เกิดใหม่ คงมีสัก 1 แบรนด์แหละที่พอจะเอาตัวรอดได้ แล้วกลับมาเล่าสู่ชาวโลกฟังว่า ชั้นไม่เจ๊งนะ !!!

แล้วอีก 99 แบรนด์ที่เหลือล่ะ? 

เขาไม่กล้าบอกใครต่อใครหรอกว่า ชั้นเจ๊งไม่เป็นท่าเพราะขายไม่ออก

การขายออกหรือไม่ออกไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้าเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับเกมการตลาดที่คุณเตรียมไว้ นี่คืองานหินที่คุณต้องฝ่าให้ได้

เมื่อขายออก การรับรู้ การยอมรับ การจดจำก็จะเกิดขึ้นตามมา เมื่อนั้นแบรนด์จะเป็นแบรนด์จริงๆ

ไม่ใช่แค่ฉลากที่แป่ะบนกระป๋องครีมเฉยๆ...

ภาพประกอบ ; Lancôme
ขับเคลื่อนโดย Blogger.