ระบบการขายแบบ Drop shipping

photo; showroom9.com
ถ้าเราจะขายสินค้า เราต้องมีสินค้าใช่ไหมครับ ดังนั้นก่อนวาดฝันว่าเราจะมีร้านค้าออนไลน์ใหญ่โต เราต้องหาคำตอบก่อนว่า เราจะขายอะไร?

ทราบไหมว่า โลกออนไลน์คือชุมชนที่มีกำลังซื้อไม่แพ้ตลาดในโลกของความจริง! ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่คุณจะขายทุกสรรพสิ่งที่คุณต้องการก็มีสูงครับ 

แต่ก่อนจะหาสินค้ามาขาย ผมอยากให้ทำความเข้าใจเรื่องการเป็นตัวแทนจำหน่ายก่อน คร่าวๆ แล้วจะมี 2 แบบครับ คือ แบบสต็อกสินค้า และ ไม่สต็อกสินค้า

แบบสต็อกสินค้า

เป็นการใช้เงินทุนส่วนตัว (บางรายอาจใช้การวางเครดิตแต่ก็ส่วนน้อยมาก) รับซื้อสินค้าในราคาต้นทุนจากผู้ผลิตมาสต็อกเอาไว้ก่อน แล้วจึงปล่อยขาย ไม่ว่าจะเป็นการขายเอง (ขายหน้าร้านหรือขายออนไลน์) หรือเปิดรับตัวแทนจำหน่ายแบบไม่สต็อกสินค้าก็ตาม 

การรับสินค้ามาสต็อก เราไม่จำเป็นต้องมีร้านค้าจดทะเบียนก็ได้ครับ จะเป็นใครก็ได้ที่มีเงินทุน ซื้อสินค้ามาเก็บไว้ในห้องนอนตัวเองก็ยังได้ ในสภาพอากาศที่ไม่แย่จนทำสินค้าเสื่อมหรือเปลี่ยนรูป

ข้อดี
- กำไรต่อชิ้นที่สูง (เพราะรับมาในต้นทุนที่ต่ำ)
- มีโอกาสเติบโตมากกว่าเป็นตัวแทนย่อยที่ไม่สต็อกสินค้า
- ในบางรายที่มีเครือข่ายนักขายหรือมีลูกค้าในมืออยู่แล้ว ก็จะเบาแรงในการขายได้มาก

ข้อเสีย
- ลงทุนสูง ความเสี่ยงด้านการเงินก็สูงตาม (หมุนเงินไม่ทัน เงินจม เสียโอกาสทางการลงทุนด้านอื่น)
- มีโอกาสขาดทุนสูง
- เหนื่อย และอาจต้องจ้างคนมาช่วย
- ปัญหาจุกจิกมาตลอด ทั้งตัวแทนจำหน่าย, ทั้งลูกค้า end user, ทั้งระบบจัดส่ง, ทั้งเจ้าของสินค้า ฯลฯ
- ในช่วงแรก ต้องวางระบบเองทั้งหมด ทั้งระบบสต็อก บัญชี แพ้กกิ้ง จัดส่ง ระบบตัวแทนย่อย ฯลฯ 

แบบไม่สต็อกสินค้า 

ในข้อนี้เราไม่จำเป็นต้องออกเงินเองครับ เจ้าของสินค้าหรือเจ้าของสต็อก อาจกำลังหาตัวแทนรายย่อยที่อยากจับเสือมือเปล่ามาช่วยกระจายสินค้า ซึ่งเราอาจทำการติดต่อเข้าไปเพื่อเป็นตัวแทนขาย เมื่อมีการสั่งซื้อจากลูกค้า เราก็ค่อยทำตามระบบซื้อขายที่ตกลงกันไว้กับเจ้าของสินค้า ได้เงินตามที่ตกลงไว้เป็นอันจบ...

ข้อดี
- ไม่ต้องทำการสต็อกสินค้า จึงลดภาระต้นทุนได้สูง 
- ความเสี่ยงขาดทุนต่ำ
- หน้าที่หลักมีเพียงการหาลูกค้าเท่านั้น
- มีอิสระ ไม่ถูกผูกมัดด้วยปัญหาจุกจิกนัก

ข้อเสีย
- กำไรต่ำ
- ถูกตัวแทนใหญ่ หรือ เจ้าของสินค้าแอบเอาเปรียบ เช่น โดนยัดไส้นามบัตรในพัสดุ, โดนหั่นราคาจนเหลือกำไรที่น้อย, ตัวแทนใหญ่รับตัวแทนย่อยไม่จำกัด จึงเกิดการแข่งขันที่สูงในสินค้านั้นๆ แต่ผลประโยชน์ทั้งหมดกลับตกเป็นของตัวแทนใหญ่ผู้เดียว
- โอกาสปล่อยตัวแทนย่อยต่อจากเรามีต่ำ เพราะกำไรค่อนข้างน้อย

ในคอร์สสอนขายสินค้าในเฟซบุ๊กคอร์สนี้ ผมขอเริ่มต้นด้วย ตัวแทนแบบไม่สต็อกก่อนนะครับ เพราะเป็นการเริ่มต้นที่ง่าย สำหรับคนที่อยากมีรายได้เสริมก็จะได้ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงสูงตั้งแต่ระยะแรก พอจบคอร์สเดี๋ยวจะเอารายละเอียดเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนแบบสต็อกเข้ามาเสริม เพื่อให้คนที่อยากขยายหรืออยากเติบโตขึ้นอีกขั้น ได้ศึกษาเป็นแนวทางกันครับ

ทราบข้อแตกต่าง ข้อดี ข้อเสีย ของการขายแบบต่างๆ แล้วนะครับ เดี๋ยวต่อจากนี้ผมจะขอแนะนำให้รู้จักรูปแบบการขายแบบไม่สต็อก อีกรูปแบบนึง ที่เป็นที่นิยมและง่ายที่สุดในยุคนี้ เรียกว่า Drop shipping 

Drop shipping เป็น เทคนิคการจัดการ “ห่วงโซ่อุปทาน” อย่างหนึ่ง โดยที่ point สำคัญอยู่ที่การ Shipping (จัดส่ง) สินค้า จากเจ้าของสินค้าสู่มือผู้สั่งซื้อโดยตรง

อธิบายรูปแบบแบบกระชับ คือ ผู้ขายไม่ต้องซื้อสินค้ามา Stock เอง ไม่ต้องส่งเอง ทำหน้าที่เพียงหาลูกค้าเท่านั้น / ส่วนเจ้าของสินค้า (เรียกว่า Drop shipper) มีหน้าที่หลัก คือ จัดส่งสินค้าในนามผู้ขาย เท่านั้นเอง

ในปัจจุบัน เจ้าของสินค้าหรือเจ้าของแบรนด์อาจทำการสนับสนุนการขาย ด้วยการสร้างสื่อการขายต่างๆ เช่น Banner, Video, Tester, Review หรืออย่างน้อยๆ ก็มีภาพถ่ายสินค้าที่ดูดี ไม่ขี้เหล่ ให้นักขายเอาไปโปรโมตด้วย 

ส่วนขั้นตอนของ Drop shipping ลำดับให้เข้าใจเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ 


photo; mysaigoncloset.com/dropship

1. เจ้าของสินค้า (Drop shipper ซึ่งขอแทนด้วย A) ตั้งราคาส่งต่อจำนวนสินค้า พร้อมสื่อสนับสนุนการขาย

2. ผู้ขาย (แทนด้วย B ) เอาสินค้านั้นมาขายในราคาปลีก (อาจตั้งราคาเอง หรือ ถูกกำหนดมาจากเจ้าของสินค้า)

3. เมื่อมีการออเดอร์สินค้าจากลูกค้า (แทนด้วย C) 
- A จะต้องทำการจัดส่งสินค้า ไปให้แก่ C โดยจ่าหน้าซองแทนตัวของ B เท่านั้น 
- C จ่ายค่าสินค้าให้ B (ราคาปลีก) แล้ว B ค่อยจ่ายค่าสินค้าให้ A (ราคาส่ง) ซึ่งระหว่าง A และ B จะจ่ายเงินก่อนส่ง หรือ ส่งก่อนจ่ายเงินก็แล้วแต่จะไปตกลงกันครับ

* มารยาทที่พึงรักษาไว้ คือ A ไม่ควรแทงข้างหลัง B ด้วยการแอบสอดไส้ contact ตัวเองลงไป เพื่อหวังดึงลูกค้าในภายหน้า เพราะหน้าที่ของ A คือ ส่งสินค้าประหนึ่ง B เป็นเจ้าของสินค้าครับ หาก B จับได้ ควรยกเลิกการค้ากันไปเลย เพราะถือว่าไม่ซื่อสัตย์

** Drop shipper ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินค้า หรือ ผู้ผลิตเสมอไป อาจเป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ก็ได้ ขอแค่วางขั้นตอนทำงานจากข้อ 1-3 ได้ก็ไม่มีปัญหาครับ

ในประเทศไทย มีการทำ Drop shipping กันเยอะ ไม่ว่าจะขายในประเทศหรือต่างประเทศ 

กรณีสินค้าที่ขายต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ไม่เป็นที่รู้จักกันนัก หรือไม่ใช่แบรนด์เนมดังๆ ในประเทศ เพราะต้นทุนจะถูกและมีโอกาสอัพราคาขายปลีกได้มากกว่า (เพราะไม่ค่อยมี compare price ให้ค้นใน google)

กรณีสินค้าขายภายในประเทศ มักถูกระบุราคาขายปลีกที่ตายตัว ดังนั้นโอกาสทำกำไรจึงต่างกันมากครับ อีกทั้งแบรนด์เนมดังๆ เขาค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องราคาปลีก เงื่อนไขจุกจิกเยอะ แถม...รับตัวแทนเยอะ ทำให้เรามีคู่แข่งเยอะตามอย่างเลี่ยงไม่ได้...

ในบทนี้คงพอได้ทราบข้อมูลที่จำเป็นต้องทราบกันแล้วนะครับ ขอบอกก่อนนะครับว่าในคอร์สนี้ผมจะเน้นการขายสินค้าในประเทศ ด้วยระบบ Drop Shipping เป็นหลัก 

เพราะเป็นโมเดลการหารายได้ที่ไว ได้เงินเร็วแบบวันต่อวัน (ส่วนโมเดลการขายสินค้าต่างประเทศ คงได้มีโอกาสมาสอนกันในคอร์สหน้าครับ)

เดี๋ยวในบทต่อไป ผมจะมาสอนวิธีหาสินค้ากันนะครับว่าเราควรหาสินค้าที่น่าขาย...ที่ไหน อย่างไรดี

ขับเคลื่อนโดย Blogger.